เมื่อไม่กี่วันมานี้ (25 พฤษภาคม 2560) มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้ง facebook ได้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในงานรับปริญญาของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) ปี 2017 ด้วยใจความสำคัญที่กินใจ ได้อารมณ์ ผมก็เลยถือโอกาสนี้นำมาเผยแพร่ให้ท่านที่รักความก้าวหน้าได้อ่านกัน และขอใช้โอกาสนี้ชี้ให้เห็นประเด็นต่างๆ ที่ทำให้สุนทรพจน์นี้..สุดยอด
สุนทรพจน์ของ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ในครั้งนี้นับเป็นสุนทรพจน์ที่ดีที่สุดครั้งหนึ่ง อย่าพลาดนะครับ เข้าเรื่องกันเลยครับ
มาร์คเริ่มต้นด้วยการกล่าวว่า “ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างมากที่ได้มาอยู่กับพวกคุณที่นี่วันนี้ เพราะพวกคุณทำในสิ่งที่ผมทำไม่ได้ นั่นคือ..เรียนจบฮาร์วาร์ด” (ฮา) “และถ้าวันนี้ผมพูดสุนทรพจน์นี้จบ นั่นหมายถึงว่าผมได้ทำอะไรบางอย่างสำเร็จจริง ๆ ที่นี่เป็นครั้งแรก”
สิ่งหนึ่งที่น่าประทับใจมากตลอดเวลาของการพูด คือภาพของภรรยาและพ่อแม่ของมาร์ค นั่งเปียกอยู่กลางสายฝนที่ตกพรำในวันนั้น มันบ่งบอกให้รู้ว่า ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร หรือแม้แต่เป็นภรรยาของบุคคลระดับพันล้าน คุณก็ต้องนั่งเปียกฝนเหมือนกัน
มาร์คบอกว่า เขามีความคล้ายกับผู้ฟัง (นักศึกษาที่กำลังรับปริญญาในงานนี้) ตรงที่เป็นคนรุ่นใกล้เคียงกัน ห่างกันไม่เกิน 10 ปี ดังนี้วันนี้เขาจึงอยากมาแบ่งปันสิ่งที่เขาเรียนรู้มาเกี่ยวกับคนรุ่นนี้ และโลกในอนาคตที่พวกเรากำลังร่วมกันสร้างขึ้นมา [open loop อีกแล้วพี่มาร์ค พูดให้คนฟังใจจดใจจ่อรอฟัง – ผู้เขียน]
แล้วเขาก็หันไปพูดถึงพ่อแม่ของเขา โดยชักนำด้วยคำถามว่า “ใครจำโมเมนต์ที่ได้รับจดหมายแจ้งว่าฮาร์วาร์ดรับคุณเข้าเรียนแล้วได้บ้าง” แล้วก็เล่าว่าวันนั้นเขาเล่นวีดีโอเกมส์ ‘Civilization’ อยู่ พอเห็นจดหมายเขาก็วิ่งลงไปหาพ่อ พ่อก็ตื่นเต้นและคว้ากล้องวีดีโอมาถ่ายตอนที่มาร์คกำลังเปิดจดหมาย
มาร์คบอกว่า นั่นน่าจะเป็นวีดีโอที่เศร้าที่สุด (เพราะในที่สุดเขาก็เรียนไม่จบที่นี่) แต่เขาก็เชื่อมั่นว่าการเข้าฮาร์วาร์ดได้เป็นสิ่งที่พ่อแม่เขาภูมิใจเป็นที่สุด [พูดแตะหัวใจพ่อแม่ และยกย่องบุพการี (หรือผู้มีพระคุณ) ในที่สาธารณะ หนึ่งในคุณสมบัติของผู้ที่ประสบความสำเร็จ – ผู้เขียน]
ดึงผู้ฟังด้วยการตั้งคำถาม(ให้คิดตาม) และเล่าเรื่องส่วนตัว
เขาดึงผู้ฟังต่อด้วยคำถามที่ว่า “แล้วใครจำคลาสแรกได้มั่ง?” แล้วเล่าเรื่องของตัวเองต่อว่า คลาสแรกของเขาคือ Computer Science 121 ซึ่งเขาจำได้เลยว่าวันนั้นไปเรียนสาย แล้วรีบจนกระทั่งใส่เสื้อกลับนอกเป็นใน หน้าเป็นหลัง ป้ายเสื้อหันออกมาอยู่ตรงคอข้างหน้า เข้าไปนั่งเรียน..ไม่เข้าใจเลยว่าทำไมไม่มีใครคุยด้วย (ฮา) ยกเว้นคนหนึ่ง..คือ Kang-Xing Jin ซึ่งสุดท้ายแล้ว KX Jin ก็รับผิดชอบธุรกิจบางส่วนของ Facebook อยู่ตอนนี้
มาร์คได้พูดถึงครั้งแรกที่ได้พบ Priscilla Chan ภรรยาของเขาในงานปาร์ตี้ที่เพื่อนๆ จัดให้ เพราะคิดว่าเขาจะต้องโดนไล่ออกจากมหาวิทยาลัยเนื่องจากได้ทำเว็บ Facemash ขึ้นมา ในปาร์ตี้นั้น มาร์คได้พบกับสิ่งที่ดีที่สุดในการมาเรียนที่ฮาร์วาร์ด คืนนั้นมาร์คบอกว่า Priscilla ว่า “ผมจะอยู่ในมหาวิทยาลัยนี้ได้อีกไม่นาน ดังนั้นรีบมาเดทกับผมเถอะ”
หัวใจสำคัญของสุนทรพจน์ครั้งนี้คือคำว่า “Purpose” (เป้าหมาย)
มาร์คยกตัวอย่างเรื่องที่เขาประทับใจด้วยเรื่องที่ประธานาธิบดี John F Kennedy ไปเยี่ยมชม NASA Space Center — ปธน. JFK พบกับคนทำความสะอาดพื้นคนหนึ่งแล้วถามว่าคุณกำลังทำอะไรอยู่ ชายคนนั้นตอบประธานาธิบดีว่า “ผมกำลังร่วมส่งคนไปดวงจันทร์”
“เป้าหมาย” เป็นความรู้สึกที่ว่า..เราเป็นส่วนหนึ่งของอะไรบางอย่างที่ใหญ่กว่าตัวของเรา มีความรู้สึกว่าเราเป็นที่ต้องการ และมีผลลัพธ์เจ๋งๆ รอเราอยู่ข้างหน้า การมีเป้าหมายจะทำให้เรามีความสุขอย่างแท้จริง
Purpose is that sense that we are part of something bigger than ourselves, that we are needed, that we have something better ahead to work for. Purpose is what creates true happiness.
และเพื่อย้ำว่าการพูดเกี่ยวกับ “เป้าหมาย” ในครั้งนี้ไม่ใช่ไก่กา ไม่ใช่การพูดสร้างแรงบันดาลใจอย่างที่คนอื่นพูดกันทั่วไป มาร์คจึงบอกว่า
ลำพังแค่การค้นหาเป้าหมายของคุณนั้นมันไม่พอ ความท้าทายของคนรุ่นเราก็คือการสร้างโลกให้เต็มไปด้วยคนที่มีเป้าหมาย
สิ่งที่เราต้องทำคือการทำให้สังคมของเราเดินทางไปข้างหน้า ซึ่งนั่นไม่ใช่การสร้างงานเพิ่ม แต่เป็นการสร้างเป้าหมายใหม่ๆ ให้กับผู้คนในสังคม
To keep our society moving forward, we have a generational challenge — to not only create new jobs, but create a renewed sense of purpose.
มาร์คจำได้ว่า ในช่วงเรียนเขาเคยบอกกับเพื่อนว่าเขาตื่นเต้นมากที่จะได้ connect คนในฮาร์วาร์ด แล้ววันนึงก็คงจะมีใครซักคนมา connect คนทั้งโลกได้ สิ่งที่เค้าไม่เคยรู้เลยก็คือ “คนอื่น” ที่ว่านั้นอาจจะเป็นเรา
บางครั้งเรามักจะคิดว่าการเปลี่ยนแปลงโลกเป็นเรื่องที่ต้องมีใครซักคนหนึ่งทำ คนที่เจ๋งกว่าเรา เก่งกว่าเรา แต่ความจริงไม่มีใครทำหรอก..ต้องเป็นเรานั่นแหละ
3 วิธีในการสร้างโลกให้เต็มไปด้วยคนที่มีเป้าหมาย
1. ทำโปรเจคใหญ่ๆ ที่สำคัญร่วมกัน — แม้ว่าโลกเรายุคนี้คนจะตกงานกันมากมายเพราะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างหุ่นยนต์ หรือรถยนต์ที่ขับเองได้ ออกมาทดแทนแรงงานคน แต่พวกเราก็สามารถทำสิ่งใหม่ๆ ที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิมได้
ในแต่ละยุคมันก็มีงานสำคัญๆ ในช่วงเวลาของมัน อย่างเช่น การไปดวงจันทร์ต้องใช้คนมาเกี่ยวข้องถึง 300,000 คน (รวมทั้งคนถูพื้นคนนั้นด้วย) หรือมีอาสาสมัครอีกเป็นล้านที่ช่วยฉีดวัคซีนให้เด็กทั่วโลก เขื่อนฮูเวอร์ใช้คนงานเป็นล้านคน ฯลฯ
โครงการใหญ่ๆ พวกนี้ไม่ใช่แค่ว่ามันทำให้คนมีงานทำ แต่มันทำให้คนทั้งประเทศรู้สึกภูมิใจ..ว่างานใหญ่ๆ อย่างนี้เราก็ทำได้
ถึงเวลาแล้วที่พวกคุณจะลุกขึ้นมาทำโครงการใหญ่ๆ แบบนี้บ้าง บางคนอาจจะกำลังคิดว่า “ฉันสร้างเขื่อนไม่เป็นหนิ” หรือ “ฉันจะไปเกณฑ์คนเป็นล้านมาทำโปรเจคใหญ่ๆ ได้ยังไง” มาร์คบอกว่า..ความลับที่เขาอยากจะบอกก็คือ
ไม่มีใครรู้หรอกว่ามันจะออกมาเป็นยังไง ไอเดียมันไม่ได้เป็นรูปเป็นร่างที่สมบูรณ์ตั้งแต่ตอนเริ่มหรอก จนกว่าคุณจะเริ่มทำนั่นแหละ มันถึงจะชัดขึ้น..ชัดขึ้น คุณแค่ต้องเริ่มเท่านั้น!
Ideas don’t come out fully formed. They only become clear as you work on them. You just have to get started.
ถ้าผมต้องคิดให้จบก่อนว่า Facebook มันจะเป็นยังไง ป่านนี้ผมคงยังไม่ได้เริ่ม
มันก็ดีแหละถ้าเราจะอยู่กับความเป็นจริง..ไม่ฝันเฟื่อง แต่คุณก็ต้องเตรียมใจถ้าคุณจะคิดอะไรที่แปลกแหวกแนว เพราะคนจะว่าคุณบ้า(แม้ว่าสุดท้ายแล้วคุณจะทำถูก)
คนที่แก้โจทย์ยากๆ อยู่ จะมีคนมาบอกว่า “ทำไมไม่คิดให้ทะลุปรุโปร่งเสียก่อน” ทั้งที่จริงแล้วมันเป็นไปไม่ได้ที่จะรู้ทุกปัญหาที่อยู่ข้างหน้า
ถ้าเรามัวแต่กลัวว่าจะทำผิด..เราจะไม่ได้เริ่ม
ไม่ว่าเราจะทำอะไร..มันต้องมีปัญหาข้างหน้าแน่ๆ แต่อย่าให้มันทำให้คุณไม่ได้เริ่มต้น
2. ต้องให้ทุกคนมีอิสระเท่าๆ กันในการตามหาฝัน — สมัยพ่อแม่เราจะยึดติดอยู่กับการมี “งานที่มั่นคง” ทำ โชคดีสมัยนี้เป็นยุคของการเป็นผู้ประกอบการ และการเป็นผู้ประกอบการนี่แหละ..ที่ทำให้เราสร้างอะไรใหม่ๆ ได้มากมาย
มันช่วยให้เราได้ทดลองไอเดียใหม่ๆ จำนวนมาก มาร์คบอกว่าก่อนจะเป็น Facebook เขาก็เขียนเกมส์มาก่อน เคยทำระบบ chat และอื่นๆ อีกหลายอย่าง
- J.K. Rowling ก็ถูกปฏิเสธ 12 ครั้งก่อนที่จะตีพิมพ์ Harry Potter
- บียองเซ่ก็เขียนเพลงมาเป็นร้อย กว่าจะดังอย่าง Halo
ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ เกิดจากอิสรภาพในการล้มเหลว
ทุกวันนี้พวกเราถูกกรอบอยู่ในระบบบางอย่างที่มีความไม่เท่าเทียมกัน [แต่ละคนมีความสามารถที่จะล้มเหลวไม่เท่ากัน เพราะ “เบาะ” ของแต่ละคนไม่เท่ากัน บางคนล้ม(บนฟูก)ได้ บางคนพลาดแล้วล้มละลายไปเลย — ผู้เขียน] ถ้าแต่ละคนไม่มีอิสระที่จะลองทดสอบไอเดียแล้วทำให้มันเป็นจริง/ได้สร้างธุรกิจเจ๋งๆ ก็ไม่มีใครได้อะไร ทุกวันนี้สังคมของเรามุ่งเน้นไปชื่นชมและให้รางวัลกับคนที่สำเร็จ แต่เราไม่เคยทำให้อีกหลายคนมีโอกาสได้ลอง ลอง แล้วก็ลอง (แม้ว่าจะไม่สำเร็จก็ได้ลองบ่อยๆ จนกว่าจะสำเร็จ)
ดูสิ ระบบต้องมีอะไรผิดพลาดแน่ๆ ที่ผมดร็อปเรียนจากที่นี่ แล้วออกไปทำเงินได้เป็นหมื่นๆ ล้านภายใน 10 ปี ในขณะที่มีนักศึกษาอีกเป็นล้านที่ไม่มีปัญญาใช้ทุน ยังไม่ต้องพูดถึงว่าจบออกไปแล้วไม่สามารถเริ่มธุรกิจได้
ผมรู้จักนักธุรกิจหลายคน คนที่เป็นนักธุรกิจได้..ไม่มีใครสนใจว่าข้างหน้าจะทำเงินได้เท่าไหร่ (ลุยเลย) ในขณะที่มีคนอีกมากมายไม่ได้เริ่มอะไร..เพราะมัวแต่กลัวว่าจะล้มแล้วเจ็บ [ความคิดของคนเป็นผู้ประกอบการกับคนที่ไม่เป็น..จะต่างกัน คนจะทำธุรกิจได้ ต้องไม่กลัว ต้องกล้าเผชิญปัญหา ในขณะที่คนที่ขี้กลัว (หรือระบบทำให้กลัว) จะไม่มีวันได้เริ่มธุรกิจ — ผู้เขียน]
หลังจากนั้นมาร์คได้จินตนาการว่าอยากให้ระบบสังคมที่เป็นอยู่มีเบาะรองรับให้ทุกคนกล้าและมีโอกาสเท่าๆ กันในการลองทำสิ่งใหม่ๆ และเพื่อที่จะให้เป็นอย่างนั้น มาร์คบอกว่าทุกคนต้องแบ่งปัน โดยเฉพาะสังคมระดับนี้ (คนจบฮาร์วาร์ด) ทุกคนแบ่งปันได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องเงินอย่างเดียว แต่อุทิศเวลาก็ได้ แล้วก็ยกตัวอย่างที่เขาไปสอนเด็ก ซึ่งทำให้ตัวเขาเองก็เรียนรู้สิ่งที่เขาจะไม่เคยได้รู้อย่างแน่นอนถ้ายังใช้ชีวิตเป็นนักธุรกิจ Facebook อยู่อย่างเดียว ในขณะเดียวกัน สิ่งที่เขาทำก็ทำให้เด็กพวกนั้นมีโอกาสได้เรียนมหาวิทยาลัย
มาร์คบอกว่า ถ้าคิดจะช่วยคนอื่น..ก็หาเวลาได้เสมอ (ที่บอกว่าไม่มีเวลาหนะ..ข้ออ้างทั้งนั้น) และเขาก็อยากให้ทุกคนช่วยเหลือคนอื่นให้มีโอกาสที่จะทำตามฝัน เพราะในที่สุดแล้วเมื่อคนหมู่มากได้ทำตามฝัน สิ่งดีๆ ก็จะเกิดขึ้น และกลับมาสู่ตัวเราในที่สุด
3. สร้างชุมชน — หมดยุคแล้วที่เราจะแบ่งแยกว่าคุณมาจากประเทศไหน คุณเป็นชนชาติอะไร เพราะเราทุกคนต่างเป็น “Citizen of the World”
เมื่อทุกคนอยู่ร่วมกัน เราก็จะสามารถสร้างสิ่งต่างๆ ร่วมกันได้ ช่วยเหลือกันได้ โดยไม่ต้องแบ่งว่าประเทศไหนจะเริ่มก่อน ใครจะเป็นคนทำเพราะทุกคนทำร่วมกันทั้งหมด และเราสามารถเริ่มสร้างชุมชมเล็ก ๆ กันได้ตั้งแต่วันนี้
มาร์ค engage กับคนฟังอีกครั้งด้วยการถามให้ยกมือ “มีใครในที่นี้มาจากประเทศอื่นบ้าง?” “แล้วในบรรดาคนที่ยกมือ ใครมีเพื่อนเป็นคนที่ยกมือในนี้บ้าง?” เห็นไหม..พวกเราเติบโตมาแบบ connected กัน
มาร์คบอกว่าจากประวัติศาสตร์ ผู้คนมีแนวโน้มที่จะรวมเป็นกลุ่มที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จากเผ่ามาเป็นเมือง มาเป็นประเทศ เพื่อทำในสิ่งที่แต่เดิมตนไม่สามารถทำได้ด้วยตนเอง แล้วเราจะเห็นว่าภารกิจหลายอย่างเป็นสิ่งที่ต้องใช้ความร่วมมือทั้งโลกจึงจะแก้ปัญหาได้
มาร์คบอกว่าการสร้างชุมชน (หรือการรวมกลุ่ม) ก็เพื่อให้สามารถทำภารกิจใหญ่ๆ ได้ การเป็นส่วนหนึ่งในสังคม (ไม่ว่าจะเป็นในครอบครัว โบสถ์ วงดนตรี ทีมกีฬา) มันทำให้เรารู้สึกมีความหมาย รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งในการทำสิ่งที่ใหญ่กว่า ให้เราไม่รู้สึกโดดเดี่ยว
ท้ายสุด มาร์คได้อวยพรให้ทุกคนได้ค้นพบความกล้าหาญ..ที่จะนำมาซึ่งชีวิตอันเจริญรุ่งเรือง
ธนกร – ผู้ก่อตั้งตลาดปัญญา
อ่านทั้งหมดเป็นภาษาอังกฤษได้ที่นี่: http://www.cnbc.com/2017/05/26/full-text-of-mark-zuckerbergs-2017-harvard-commencement-speech.html
และดูคลิปเต็มได้ที่นี่: https://www.facebook.com/zuck/videos/10103748609129051/