
บทความนี้จะว่าด้วยเรื่องของวิถีทางการเงิน 9 อย่าง ที่ถ้าท่านทำตามนี้แล้ว ผมมั่นใจว่าความยากจนจะไม่มีวันย่างกรายเข้ามาในชีวิตของท่าน
วิถี น. สาย, แนว, ถนน, ทาง มักใช้ประกอบกับคำอื่น เช่น วิถีทาง วิถีชีวิต บาทวิถี
วิถีทาง น. ทาง เช่น ต้องใช้ความพยายามทุกวิถีทางกว่าจะประสบความสำเร็จ
ใกล้ปีใหม่เข้าไปทุกทีแล้ว ทำไมก็ไม่รู้..ผมรู้สึกว่าปีนี้นาฬิกาเดินเร็วชะมัด แต่ละท่านคงได้ตั้งเป้าหมายไว้เมื่อตอนต้นปีว่าปีนี้จะทำอะไรให้สำเร็จ จะบรรลุเป้าหมายอะไรบ้าง ไม่ทราบว่าเข้าใกล้เป้าหมายประจำปีกันหรือยัง เขียนแชร์ใน comment ด้านล่างได้นะครับ
ไม่ว่าจะอย่างไร ไม่มีอะไรที่สายเกินไป ท่านไหนที่กำลังเริ่มที่จะตั้งเป้าหมายสำหรับปีหน้า ผมอยากเชิญชวนท่านตั้งเป้าหมายที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หรือวิถีชีวิต 9 อย่าง ที่จะเป็นวัคซีนป้องกันโรคทรัพย์จาง ทำตาม 9 ข้อนี้แล้ว ความยากจนจะไม่ย่างกรายเข้ามาสู่ชีวิตท่านอีกเลย
มาดูกันว่า 9 อย่างนี้มีอะไรบ้าง
1. ลด/ละ/เลิกการใช้บัตรเครดิต
ฟังดูแปลกๆ สำหรับสมัยปัจจุบันที่ทุกกิจกรรมในชีวิตเปลี่ยนไปสู่ยุคดิจิทัล บัตรเครดิตก็เหมือนเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่ช่วยให้สะดวกไม่ต้องพกเงินเยอะๆ ช่วยให้ปลอดภัยไม่ต้องถือเงินสดมากๆ แต่ในขณะเดียวกัน มันก็ทำให้ต่อมอดกลั้นของท่านอ่อนแอ
หลายครั้งเราคิดว่าพกบัตรเครดิตไว้เฉพาะยามฉุกเฉินเท่านั้น แต่เอาเข้าจริงๆ แล้วเรามักใช้มันเพื่อความสะดวกซะแทนในที่สุด การใช้จ่ายเงินด้วยความง่าย..จะนำมาซึ่งปัญหาหนี้สินเสมอ ยิ่งตอนที่เงินไม่พอจ่ายค่าบัตรเครดิต แล้วเขาอนุญาตให้ท่านผ่อนชำระขั้นต่ำ 10% ได้ เมื่อนั้นหละความอิรุงตุงนังจะเริ่มมาเยือน เพราะหลายครั้งคนทั่วไปก็จะจ่ายแค่ 10% จริงๆ เสียทั้งดอกเบี้ย(สูงลิ่ว) และต้นก็ไม่ลดสักทีเพราะเดือนต่อไปก็เอาหนี้ใหม่มาพอกอีก
ผมยืนยันได้เลยว่า ในบรรดาหนี้ทั้งหลาย บัตรเครดิตเป็นหนี้ประเภท priority #1 ที่ต้องสางให้จบก่อนใครเพื่อน
คำแนะนำ ถ้าอยากพกบัตรเพื่อความสะดวกและปลอดภัย ลองพิจารณา “บัตรเดบิต” ที่จะตัดเงินจากบัญชีธนาคารของท่านทุกครั้งที่มีการใช้จ่าย มันจะเทียบเท่าเงินสด และไม่เป็นการเอา “เงินอนาคต” มาใช้
2. นับรายจ่ายให้เกิน นับรายได้ให้ขาด
งงไหมครับ ผมหมายความว่า ในบรรดาค่าใช้จ่ายต่างๆ เราต้องคิดเว่อร์ๆ ไว้ก่อนว่าจะมีค่าใช้จ่ายอะไรต่อมิอะไรมากมาย กลับกัน ในส่วนที่จะเป็นรายได้ ให้คิดหรือนับเฉพาะอันที่ชัวร์ๆ หรือคิดแค่ขั้นต่ำ
วิธีคิดแบบนี้จะทำให้เราดำรงอยู่ในความไม่ประมาท ค่าใช้จ่ายก็กลัวๆ ไว้ก่อน รายได้ก็เหนียมๆ ไว้นิด อย่าลืมว่าพวกรายจ่ายน่ะ มาคงที่ และมาแน่นอน เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่าอาหาร ค่าน้ำ-ค่าไฟ ค่าเทอม ค่าน้ำมันรถ ฯลฯ และมีแต่จะเพิ่มขึ้นจากรายการที่นึกไม่ถึง เช่น ไม่สบายไปหาหมอ ใช้โทรศัพท์เยอะไป ค่าเบี้ยประกันชีวิตรายปี ฯลฯ
3. กันสำรองไว้สำหรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด
การคิดว่า “ชีวิตนี้เราอยู่อย่างพอเพียง สบายๆ ละ ทุกอย่างดำเนินไปด้วยความเรียบง่าย เรียบร้อย ไม่มีอะไรต้องกังวล” ถือเป็นความประมาทขั้นร้ายแรง เพราะอะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ เช่น เจ็บป่วย รถเสีย อุบัติเหตุ ฯลฯ
ท่าที่ฉลาดก็คือ กันรายได้ 10-15% ไว้ในบัญชีฝากประจำเสมอ พอเงินเดือนออกก็เขี่ยลงบัญชีฝากประจำนี้ไว้ ไม่ต้องคิด ไม่ต้องไปดูมัน แล้วท่านจะมีเงินสำรองฉุกเฉินไว้ใช้ยามจำเป็นอย่างไม่ยากลำบากเลย
4. อย่าติดหรู
แม้เราจะหาความสุขบ้างจากอาหารค่ำมื้ออร่อย หรูหรา หรือไปเที่ยวต่างประเทศบ้างเพื่อเปิดโลกทัศน์และหาประสบการณ์ใหม่ๆ ในชีวิต แต่อย่าให้ความรู้สึก(ความสุข)เหล่านั้นกลายเป็นนิสัย คงไม่ต้องอธิบายคำว่า “ติดหรู” ใช่ไหมครับ
ลองคิดใหม่ว่า ความสุขพวกนั้นเป็นความสุขชั่วครั้งชั่วคราวที่มา..และหายไป..อย่างรวดเร็ว และโดยส่วนใหญ่แล้วมันไม่ได้ทำให้ชีวิตเราดีขึ้นเลย
ลงทุนกับ “การทำ” ดีกว่าลงทุนกับ “การมี” เพราะ “การมี” ท่านต้องเอาเงินไปแลกมา แต่ “การทำ” จะสร้างเงินให้ท่านในระยะยาว
5. แยกบัญชีเงินเดือนจากบัญชีใช้จ่าย
ทริกเล็กๆ น้อยๆ ข้อนี้ได้ผลชงัด โดยท่านเปิดบัญชีออมทรัพย์ไว้อีกบัญชีหนึ่ง พร้อมบัตร ATM และเมื่อเงินเดือนออก ก็ตั้งงบประมาณค่าใช้จ่ายไว้เลยว่าจะใช้ได้กี่บาท แล้วก็โอนเงินมาเข้าบัญชีนี้เท่าๆ กับงบประมาณที่ตั้งไว้ และใช้จ่ายออกจากบัญชีนี้เท่านั้น แบบนี้จะทำให้ท่านรู้สึกว่า “เดือนนี้มีเท่านี้แหละ” และพยายามใช้ให้เพียงพอ ส่วนเงินที่เหลือจากบัญชีเงินเดือนก็กันไปเป็นเงินสำรอง เงินออม/เงินลงทุนทันที
6. อยากได้อะไรให้เก็บเงินซื้อ
ไม่ใช่เอาบัตรเครดิตไปรูด หรือไปซื้อแบบเงินผ่อน เพราะความไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ อะไรก็ตามที่ซื้อโดยใช้เงินเก็บ จะทำให้ท่านเกิดความมุมานะในการเก็บเงิน มีความรอบคอบ/ระมัดระวังในการตัดสินใจที่จะซื้อ และ “ตัวเบา” ปราศจากหนี้สิน
7. หัดมีความสุขกับสิ่งเล็กๆ

ตราบใดที่เราสามารถหาความสุขได้จากทุกสิ่งอย่างรอบตัว จะทำให้เราเป็นคน “ไม่มีวันขาดความสุข” ได้ทำงานที่รัก..ก็มีความสุข ได้ดูแลรักษารถคันเก่าให้สภาพดี..ก็มีความสุข เห็นคนอื่นมีความสุข..ก็สุขได้แล้ว แบบนี้จะทำให้ท่านไม่พยายามปีนป่ายบันไดค่าใช้จ่าย ที่ต้องซื้อของแพงขึ้นเรื่อยๆ ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เพื่อเอาชนะความสุขที่มันด้านชาไปแล้ว (ต้องหาอะไรที่แพงกว่าเดิมเพื่อสนองความสุขที่ต้องการ)
8. จ่ายหนี้ด้วยเงินเก็บ (ไม่ใช่กู้มาจ่ายหนี้)
อันนี้เป็นปัญหา Classic ของหลายคนที่พอจ่ายบัตรเครดิตใบเก่าไม่ไหว ก็ทำบัตรใหม่ แล้วกู้/เบิกเงินสดล่วงหน้ามาจ่ายหนี้บัตรเก่า ซึ่งมันเป็นเพียงการโอนหนี้จากบัตรเก่าไปสู่บัตรใหม่เท่านั้น
เพียงลด/ละ/เลิกการกู้หนี้ยืมสินไปจ่ายหนี้ ท่านจะหลุดจากวงจรอุบาทว์ของดอกเบี้ยมหาโหดของบรรดาบริษัทบัตรเครดิต
9. จ่ายหนี้ให้ตรงเวลา
นี่คือวินัยข้อสำคัญที่เป็นพื้นฐานของสุขภาพการเงินที่แข็งแรง ถ้าท่านเป็นหนี้ ท่านต้องพยายามจ่ายหนี้ให้ตรงเวลา (เพื่อหลีกเลี่ยงดอกเบี้ยทบต้น) และจ่ายอย่างสม่ำเสมอ (เพื่อให้มีวันหมดหนี้) คิดอยากได้อะไรต้องอดใจไว้ก่อน ถือว่าหนี้เป็นภาระอันดับ 1 ที่ต้องจัดการก่อน
เป็นไงบ้างครับ คิดว่า 1 ใน 9 วิธีไหน ตรงใจ และนำไปปฏิบัติได้ตรงกับตัวท่านมากที่สุด เขียนใน comment ด้านล่างนี้ได้เลยนะครับ
แด่ความสำเร็จ
ธนกร – ผู้ก่อตั้งตลาดปัญญา
