
การเป็นนักพูดหรือวิทยากรที่ดีนั้น..ไม่ใช่เรื่องที่ยากเลย เพราะทุกอย่างนั้นขึ้นอยู่กับการฝึกฝน ปัญหาอันดับแรกที่ “นักพูดมือใหม่” หรือผู้เริ่มต้นมักจะเจอ ไม่ใช่ปัญหาเรื่องการหาแนวคิด ประเด็นของการพูด หรือการออกเสียงไม่ชัด (เพราะสิ่งเหล่านั้นเราสามารถมาฝึกทีหลังได้) แต่ปัญหาสำคัญคือ “ขาดความมั่นใจ” เพราะความไม่คุ้นเคย ไม่เคยทำ ไม่เคยชิน
และสิ่งนี่แหละคือสิ่งสำคัญที่ทำให้เรา “พูดไม่ได้” หรือ “พูดต่อหน้าคนมากๆ ไม่ได้” เป็นเพราะ
เราไม่มั่นใจว่า เราจะทำได้
หากเรามีความคิดว่า เราไม่เคยทำ เราทำไม่ได้แน่ๆ กลัวว่าจะพูดผิด กลัวลืมสคริปต์ กลัวตื่นเวที นี่จะเป็นเทคนิคที่ช่วยให้เราสามารถลดสิ่งเหล่านี้ได้ ด้วยวิธีการฝึกที่มีประสิทธิภาพ ที่ตลาดปัญญานำมาฝากทุกท่านในวันนี้
1. เริ่มต้นด้วยสิ่งที่เราสนใจ และมีความรู้หรือข้อมูลในเรื่องนั้น
นี่เป็นสิ่งที่ง่ายที่สุดที่จะทำให้เราสามารถพูดได้อย่างเป็นธรรมชาติ และไม่ต้องไปจำสคริปต์อะไรมากมาย
อันที่จริงแล้ว สำหรับการพูดที่ดี สคริปต์ก็เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญ แต่รู้หรือไม่ นักพูดที่เชี่ยวชาญหรือวิทยากรที่เชี่ยวชาญ
ไม่ได้จำสคริปต์แบบ “จำทั้งประโยค” และพูดตามนั้นทั้งประโยค
อย่าลืมว่า การพูด ไม่ใช่การท่อง ดังนั้น เราควรจำหัวข้อที่เราจะพูดมากกว่าการจำทั้งประโยคหรือจำแบบคำต่อคำ
ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น ถ้าเราต้องการพูดแนะนำตัวเอง (ข้อมูลของตัวเองเป็นสิ่งที่รู้อยู่แล้ว เราแทบไม่ต้องไปจำอะไรมากมายเกี่ยวกับตัวเองเลย)
สิ่งที่ต้องจำอาจมีแค่
ช่วงแรก แนะนำ ชื่อ นามสกุล อายุ
ช่วงที่สอง เล่าเกี่ยวการศึกษาของตัวเอง
ช่วงที่สาม เล่าประสบการณ์ ความถนัด ความชอบ
จะเห็นว่า จริงๆ แล้วสคริปต์ของเรามีเพียงเท่านี้ เพราะมันเป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวเอง
ลองเริ่มแนะนำตัวเองดูสัก 5 นาที สั้นๆ ฝึกพูดจนเคยชิน และเราจะคุ้นเคยกับการพูดมากขึ้น
หรือถ้าคิดว่าง่ายเกินไป อาจจะลองพูดเรื่องราวที่เรามีความสนใจ หรือเรื่องที่เรามีความรู้อยู่แล้วก็ได้
2. ฝึกฝนทีละนิด และขยายเวลาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
หลังจากที่เราได้รู้แล้วว่าเราจะพูดเรื่องอะไร บรรยายเกี่ยวกับอะไร เราอาจจะลองแบ่งเนื้อหาของเราแยกเป็นส่วนๆ
พูดสั้นๆ แค่ 5 นาที เพิ่มเป็น 10 นาที ไปจนกระทั่งถึงหนึ่งชั่วโมง
ฝึกให้คล่องไปทีละอย่าง แล้วเราจะมีความมั่นใจมากขึ้น การฝึกแบบนี้ไปอย่างต่อเนื่อง
จะทำให้เราสามารถพูดในระยะเวลาที่นานขึ้นได้และไม่ลืมสิ่งที่เราจะพูด
ความประหม่าของเราก็จะหายไป หรืออย่างน้อย ถ้าต้องไปพูดต่อหน้าสาธารณะ ก็ยังรู้ว่า เราสามารถพูดได้ จำทุกอย่างที่เราอยากจะพูดได้แล้ว
3. อย่าลืมที่จะอัดเสียงหรืออัดวิดีโอไว้
ตัวช่วยอีกอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้การพูดของเราดีขึ้น คือการอัดเสียงตัวเองไว้ฟัง เพื่อดูว่ามีช่วงไหนบ้างที่ต้องปรับปรุงแก้ไข การอัดเสียงไว้ฟังไม่เพียงแต่จะช่วยให้เราได้รู้จัก ข้อดี-ข้อเสีย และสิ่งที่ต้องปรับปรุงของเราเท่านั้น แต่ว่ามันยังช่วยให้เรา “จำ” สิ่งที่พูด จากการฟังซ้ำๆ ด้วย
หรือถ้ามีเครื่องมือมากพอ การอัดวีดีโอไว้เลยก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้ได้เห็นตัวเองทั้งลักษณะการพูด และท่าทางของเราด้วย
แต่ถ้าสิ่งเหล่านี้ดูจะยากเกินไป อาจจะใช้แค่วิธีการพูดในกระจกกับตัวเองก็ได้
4. เริ่มต้นด้วยการทักทาย
เมื่อฝึกจนพร้อมที่จะพูดแล้วจนถึงเวลาที่จะขึ้นเวทีจริง สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยคือ ” การทักทาย “
เพราะการทักทายเปรียบเสมือนการอุ่นเครื่องก่อนที่จะเข้าสู่เนื้อหา และเป็นการสร้างความเป็นกันเองระหว่างผู้พูดกับผู้ฟังอีกด้วย
นอกจากนั้นยังช่วยลดความประหม่าที่จะเกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ตามในการทักทายผู้ฟังนั้นผู้พูดต้องดูสถานการณ์ด้วยว่างานที่เราไปพูดนั้น เป็นแบบทางการที่ต้องทักทายแบบทางการ หรือเป็นงานไม่ทางการที่สามารถทักทายแบบทั่วไปได้
5. โต้ตอบกับผู้ฟัง
ในระหว่างที่พูด ผู้พูดต้องตระหนักถึงผู้ฟังอยู่เสมอ การโต้ตอบกับผู้ฟังนับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะจะทำให้เรารู้ว่าผู้ฟังเข้าใจที่เราพูดหรือไม่
โดยปกติ ปฏิกิริยาจากผู้ฟังเป็นสิ่งที่สามารถสังเกตได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นจากสีหน้าหรือท่าทาง
ผู้พูดที่ดีมักจะเป็นนักสนทนาที่ดีด้วย จึงควรมีการสนทนาชวนให้ผู้ฟังโต้ตอบบ้าง โดยเลือกใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์และกลุ่มของผู้ฟัง
ประสบการณ์เป็นสิ่งสำคัญ
มีเทคนิคมากมายที่ช่วยให้เราสามารถพัฒนาศักยภาพในด้านการพูดได้อย่างไม่ยากเลย นักพูดที่ดีจึงควรมีการฝึกฝนอยู่เสมอ เพื่อให้มีประสบการณ์ และสามารถเรียนรู้ข้อดี-ข้อเสีย ของตัวเองแล้วนำมาปรับปรุงแก้ไข
นอกจากนั้น นักพูดที่ดีควรมีความสนใจในสิ่งต่างๆ รอบตัว และต้องไม่ลืมที่จะรับฟังปฏิกิริยาสะท้อนกลับจากผู้ฟังด้วย เพื่อที่จะสามารถปรับปรุงในสิ่งที่บกพร่อง และพัฒนาในสิ่งที่เราทำได้แล้วให้ดีมากยิ่งขึ้น
หมั่นฝึกฝน เรียนรู้อยู่เสมอ ย่อมทำให้เรากลายเป็นนักพูดที่ดีได้อย่างแน่นอนค่ะ
คอร์สออนไลน์ “Train the Trainer”
ยกระดับความสามารถ การพูดในที่ชุมชนของคุณ “คลิกเลย”
แล้วพบกันใหม่ ในบทความหน้านะคะ
บรรณาธิการ : ตลาดปัญญา.com