เคยสงสัยไหมครับว่า โพสต์หรือข้อมูลประเภทไหนถูกแชร์ต่อกันไปเยอะที่สุดในโลกโซเชียลมีเดีย?
ถ้าท่านทำการตลาดอยู่ ท่านอาจจะใช้จำนวนการแชร์เป็นตัวชี้วัดผลลัพธ์ทางการตลาดอยู่หรือเปล่า?
ท่านอยากรู้ไหมว่า โพสต์บน Social Media ไหนแล้วจะถูกแชร์เยอะกว่ากัน ระหว่าง Facebook, Twitter, Instagram?
ในบทความนี้ ท่านจะได้เรียนรู้จากการสำรวจครั้งล่าสุด
- โพสต์อะไรดี..จะได้ถูกแชร์เยอะๆ
- โพสต์ที่ไหนดี..จะได้ถูกแชร์เยอะๆ
- โพสต์บนสื่อไหน..จะได้ถูกแชร์เยอะๆ
1. ยอดการแชร์บนอุปกรณ์ Mobile โตเป็น 2 เท่า
จากรายงานของ ShareThis ในปี 2557 มีการแชร์ผ่านทางอุปกรณ์ Mobile เพิ่มขึ้นเท่าตัว ถ้านับจากกิจกรรมทุกอย่างของผู้ใช้อุปกรณ์เคลื่อนที่ พบว่า 20% เป็นการแชร์ข้อมูล ในขณะที่ผู้ใช้งานบนเครื่อง Desktop ใช้เวลาเพียง 6% ของทั้งหมดในการแชร์ข้อมูล ซึ่งลดลงถึง 30.2% เมื่อเทียบกับปี 2556
สรุปสาระสำคัญ
ข้อแรก – ด้วยความที่ผู้ใช้งาน Social Media ใช้อุปกรณ์ Mobile กันเยอะมาก ถ้าใครคิดจะเข้าถึงลูกค้าผ่านทาง Social Media จำเป็นต้องใช้กลยุทธ์ Mobile-First (จะทำอะไรให้คิดถึงผู้ใช้งานจากอุปกรณ์มือถือก่อนเป็นอันดับแรก) ผลสำรวจล่าสุดในเดือน ม.ค. 58 ระบุว่าผู้ใช้งาน 80% ใช้อุปกรณ์ Mobile (ซึ่งตรงกับสถิติ Traffic ในเว็บตลาดปัญญาของเรา)
ข้อสอง – เพราะการแชร์เป็นเรื่องของการเข้าสังคมแบบหนึ่ง การเข้าสังคมถือเป็นกิจกรรมส่วนบุคคล ซึ่งแน่นอนเรามักทำเรื่องส่วนตัวบนอุปกรณ์ Mobile ของเราเองมากกว่าบนเครื่อง Desktop ซึ่งเป็นของที่ทำงาน จึงไม่แปลกที่ยอดการแชร์จะไปเติบโตอยู่ที่อุปกรณ์เคลื่อนที่ (Mobile/Tablet)
2. ผู้คนแชร์บน Facebook มากสุด (ถ้าไม่นับ Instagram)
ในการศึกษาชุดเดียวกัน ShareThis ได้เปรียบเทียบปริมาณการแชร์ข้อมูลบน Facebook, Twitter, Pinterest, Tumblr และอีก 2-3 แพลตฟอร์ม พวกเขาพบว่า Facebook มียอดนำโด่ง มากกว่าที่สองถึง 10 เท่า (เฉพาะ Facebook อย่างเดียวก็ปาเข้าไป 81% แล้ว)
ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2557 ยอดแชร์ถึง 81% เกิดขึ้นบน Facebook ซึ่งนำโด่งจากที่ 2 (Pinterest) ที่มีแค่ 7% อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจนี้ไม่ได้ทำกับ Instagram
Instagram ได้รับการตอบรับในเรื่อง engagement มากที่สุดเมื่อเทียบกับช่องทางอื่นในการสำรวจครั้งเดียวกัน ผลจากการสำรวจครั้งก่อนสรุปว่ายอด engagement บน Instagram สูงยิ่งกว่า Facebook ซะอีก อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่าคำว่า engagement นั้นหมายรวมถึง Like, Share และ Comment
รูปด้านบนนี้แสดงให้เห็นว่า Brand ที่อยู่บน Instagram มีบรรดา Follower (ผู้ติดตาม) มีปฏิสัมพันธ์กับโพสต์ต่างๆ ของ Brand ถึง 4.21% เมื่อเทียบกับบน Facebook แล้ว มีจำนวนเพียง 0.07% ของจำนวนแฟนเท่านั้นที่มีปฏิสัมพันธ์กับโพสต์
พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ สมมุติว่าคุณเป็น Brand ที่โพสต์ข้อมูลบน Instagram และ Facebook ถ้าบน Instagram มีคน follow คุณ 10,000 คน และบน Facebook แฟนเพจมี 10,000 ไลค์ เวลาที่คุณโพสต์อะไรออกไป บน Instagram จะมีคน Like/Comment ถึง 421 คน เมื่อเทียบกับบน Facebook จะมีคน Like/Share/Comment เพียงแค่ 7 คนเท่านั้น
ข้อมูลอีกอย่างหนึ่งคือ อัตรา engagement หรืออัตราการ Like/Share/Comment กำลังลดลงเรื่อยๆ อันนี้อ้างถึงรายงานเรื่อง Content Marketing Paradox ของ TrackMaven ที่วัดอัตราการ engage กับข้อมูล 13.8 ล้านชิ้นของ 8,800 แบรนด์
ชาร์ตด้านล่างนี้แสดงให้เห็นถึงปริมาณข้อมูลในโซเชียลมีเดียซึ่งเพิ่มขึ้น แต่อัตราการแชร์และ engagement กลับลดลง เมื่อผู้คนโพสต์ข้อมูลในโซเชียลมีเดียมากขึ้น แน่นอนมันก็ต้องไปแย่งและแข่งขันกันเพื่อให้ถูกแสดง มีคนเห็นโพสต์ของเราน้อยลง และผู้คนก็ไม่ได้มีเวลามากเหมือนเมื่อก่อนที่จะดู content ของเรา (เวลามีเท่าเดิม แต่ข้อมูลมีมากขึ้น)
และถ้าดูอัตรา engagement เปรียบเทียบระหว่างหลายๆ สื่อโซเชียลล่ะ ชาร์ตด้านล่างนี้ตอบได้ดี
เห็นได้ชัดเลยว่าโพสต์ใน Twitter มีคน engage น้อยสุด ส่วน Facebook มากสุด แต่ก็..อีกครั้ง..อย่าลืมว่า Instagram มีอัตราการ engage สูงกว่า Facebook เป็นไหนๆ
3. ผู้บริโภคแชร์โพสต์ประเภท “ลิสต์รายการ” กับโพสต์เฉลยว่า “ทำไม…” สูงสุด
เคยได้ยินคำว่า Listicle ไหมครับ มันมาจากคำว่า List + Article ซึ่งก็คือบทความประเภทลิสต์รายการ ถ้านึกไม่ออก ลองดูหัวข้อเหล่านี้ว่าคุ้นๆ รูปแบบหรือเปล่า
- 10 บริษัทที่มีคนอยากเข้าทำงานมากสุด
- 5 เหตุผลสำคัญที่แบรนด์ของคุณควรมีบุคคลิก
- 7 กลยุทธ์สำคัญในการทำการตลาดด้วย Facebook
- ความลับสำคัญ 3 อย่างที่ทำให้ธุรกิจกาแฟของผม..รุ่งสุดๆ
แค่เห็นก็อยากคลิกอ่านแล้วใช่ไหมครับ แต่ทั้งหมดนี้ผมยกตัวอย่างเฉยๆ ครับ
โพสต์อีกประเภทหนึ่งที่ผู้อ่านแชร์กันเยอะก็คือโพสต์แนวเฉลย ประเภท “ทำไมฉันจึง…” “นี่คือเหตุผลที่คุณต้อง…” ลองดูตัวอย่างนะครับ
- นี่คือเหตุผลที่คุณต้องไปเที่ยวปายให้ได้สักครั้งในชีวิต (มันมีอะไรนักหนาเหรอ?)
- มันแหล่มมากเลยต้องจัดไป กับ iPhone6 เครื่องใหม่ของผม (คนอยากรู้ว่ามันแหล่มยังไง?)
- เพราะอะไรมอดถึงหนีตายเมื่อเราเอาช้อนสเตนเลสใส่ไปในข้าวสาร (เอ้อ..ไม่เคยรู้มาก่อน)
โพสต์ประเภทที่เหลือก็อย่างเช่นพวก “What”, “How to…” หรือพวกวีดีโอ เช่น
- เสาร์-อาทิตย์นี้ไปดูหนังอะไรดี?
- วิธีกำจัดปลวกแบบตายยกรัง
ก็มีอัตราการแชร์ลดหลั่นลงมาตามชาร์ตด้านล่างนี้ครับ
สรุปสาระสำคัญ
โพสต์ประเภท “ลิสต์รายการ” กับแนวเฉลยว่า “ทำไม…” ได้รับการแชร์ต่อสูงสุด อาจเป็นเพราะมันถูกจริตกับผู้บริโภคในยุคสมัยนี้ (และแน่นอน..มันจะเปลี่ยนไปอีกในอนาคต)
โพสต์ประเภท “ลิสต์รายการ” ให้อารมณ์ว่าจะจัดระเบียบและยุบย่อข้อมูลให้บริโภคง่าย (เป็นข้อ และสั้นๆ) และยังมักเป็นหัวข้อที่คนอยากรู้ ในขณะที่โพสต์แนวเฉลยมาในแนวบอกคำตอบ หรือไม่ก็ย้ำเหตุผล ซึ่งผู้คนก็พยายามหาเหตุผลสนับสนุนการกระทำของตัวเองอยู่ออกบ่อย
บทสรุปและประเด็นเพิ่มเติมจากผลสำรวจ
1. จากข้อมูลที่ได้เรียนรู้ ลองปรับกลยุทธ์ Social Media Marketing ของคุณสักนิด (เลือกสื่อที่เหมาะสม เนื้อหาที่คนชอบ) Content ของคุณอาจจะถูกแชร์เพิ่ม เข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น ด้วยต้นทุนที่ต่ำลง
2. จากเดิมที่เราคิดว่า Facebook มีผู้ใช้เยอะที่สุด น่าจะเป็น Social Media ที่ดีที่สุด (ในการเข้าถึงผู้คน) แต่ก็ไม่จำเป็นเสมอไป สื่ออื่นๆ (เช่น Instagram) ที่มีอัตรา Engagement เยอะๆ ก็เป็นตัวเลือกที่น่าสน
3. ถ้าลูกค้าของคุณเป็นกลุ่มประชากรช่วงอายุ 18-29 ปี อย่าลืม Instagram เด็ดขาด! เพราะครึ่งหนึ่งของคนกลุ่มนี้ใช้ Instagram ทุกวัน
4. ถ้าธุรกิจของคุณเป็นเรื่องกีฬา ให้เน้น Twitter ครับ เพราะกีฬาเป็นหัวข้อที่คน engage เยอะสุดใน Twitter
คิดว่าเป็นไงบ้างครับสำหรับข้อมูลที่ผมไปหามา ตรงกับประสบการณ์ของคุณหรือเปล่า เขียนใน comment ด้านล่างนี้ได้นะครับ
ธนกร – ผู้ก่อตั้งตลาดปัญญา